วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แม่นาค เดอะมิวสิคัล การตีความใหม่ฉบับของดรีมบอกซ์



ละครเพลง แม่นาค เดอะ มิวสิคัล การตีความใหม่ฉบับของดรีมบอกซ์
ดารกา วงศ์ศิริ
หลังจากที่ทางดรีมบอกซ์ได้จัดงานแถลงข่าวว่าจะจัดแสดงละครเพลง แม่นาค เดอะมิวสิคัล ครั้งแรก ขึ้นเมื่อ ปี 2550 ก็มีหลายๆคนที่ถามว่า ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้ และ ถ้าหากทำขึ้นมา แม่นาคเวอร์ชั่นของดรีมบอกซ์จะต่างกับแม่นาคเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ โอเปร่า หรือ การ์ตูน ที่ทำกันมาทุกรูปแบบแล้วยังไง
ตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ จำได้สนิทใจว่ากลัวอยู่สองอย่างค่ะ คือ กลัวซีอุยมากินตับ และ กลัวผีแม่นาคมาหักคอ ยิ่งตอนนั้นบ้านอยู่เขตอำเภอพระโขนงด้วย ก็ยิ่งคิดไปเองว่าแม่นาคคงมาหลอกได้ง่ายๆ เพราะอยู่ใกล้ๆกัน แต่เมื่อไปถามเพื่อนที่โรงเรียนทุกคนก็กลัวแม่นาคทั้งนั้น จำได้ว่าสบายใจไปนิดนึงว่าแม่นาคมีอิทธิฤทธิ์ไปไหนก็ได้คงไม่มาหาเราคนเดียวหรอก เรื่องราวของแม่นาคที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็กๆก็อาจจะเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ เมื่อโตขึ้นและมาประกอบอาชีพทำละครเวทีนั้น ทำให้เห็นว่าแรื่องราวของแม่นาคมีองค์ประกอบที่ยิ่งใหญ่พอที่จะนำเสนอในรูปของละครเพลงที่เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่แม่นาคกล้าหาญที่จะ”ปฎิเสธความตาย” อันเป็นชะตากรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องยอมรับ นี่คือลักษณะของตัวละครที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ เป็นตัวละครที่นักเขียนอยากจะรู้จัก อยากจะเข้าใจ และ อยากจะเล่าเรื่องของเขาให้ทุกคนฟัง
บทละคร แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ของดรีมบอกซ์นี้ เขียนขึ้นโดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า แม่นาคเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงมาอยู่ที่พระโขนง เพราะอะไรแม่นาคถึงได้ขึ้นชื่อว่าดุร้ายเกินผีตายท้องกลมคนอื่นๆ ในยุคนั้น ทำไมแม่นาคถึงรักพ่อมากเสียเหลือเกินจนไม่อาจตัดใจทิ้งพ่อมากไปได้ และ เพราะอะไรวิญญาณแม่นาคถึงจากไปในที่สุด
หลังจากนั้นก็เริ่มค้นคว้าหาข้อมูลของสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยิ่งอ่านมากค้นมากก็ยิ่งรู้สึกเศร้าใจค่ะ เพราะผู้หญิงไทยในสมัยนั้นช่างน่าสงสารเหลือเกิน และไม่ว่าจะถือกำเนิดขึ้นในชนชั้นไหน สถานะภาพของผู้หญิงก็ต่ำต้อยยิ่งกว่าผงธุลีดินโดยเฉพาะในสังคมชนบทที่ให้ความสำคัญกับแรงงานมากที่สุด ผู้หญิงที่ทำงานไม่ได้นั้นมีค่าน้อยกว่าควายตัวนึงเสียอีก หลวงเองก็เกณฑ์แรงงานผู้ชายไปทำงานปีละหลายเดือนทำให้ภาระหนักอึ้งทั้งหมดตกอยู่กับผู้หญิงเท่านั้น ในสังคมปิดที่ตีกรอบภาระและหน้าที่ผู้หญิงไว้ตายตัวแบบนี้ย่อมซ่อนความรุนแรงของอารมณ์ที่พร้อมจะระเบิดขึ้นตลอดเวลา การดำเนินเรื่องของแม่นาคจะเกิดขึ้นในสังคมแบบนี้ค่ะ
เหตุการณ์ต่างๆใน แม่นาค เดอะ มิวสิคัล เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เดือน ห้า ปี พศ.2395 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แม่นาคหนีจากบ้านที่อยุธยาตามพ่อมากมาอยู่ที่พระโขนง จนถึงเดือนหกปีต่อมา เมื่อวิญญาณของแม่นาคจากไปสู่สุคติภพ
ในเวลาชั่วเวลาหนึ่งปีนี้เองที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ในชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง ที่ชื่อ นาค ทั้งความรัก ความทุกข์ ความสุข การจากพราก ความตาย และการพยายามหนีจากเงื้อมมือของความตายเพื่อยื้อยุดความสุขที่มีน้อยนิดไว้ให้นานที่สุด
แม่นาคของดรีมบอกซ์ เป็นลูกสาวคนเดียวของขุนนาง ที่แม้จะอยู่ในครอบครัวที่มีบิดาที่เข้มงวด และมีมารดาที่ตกอยู่ใต้อำนาจของสามี แต่แม่นาคก็ยังได้เรียนหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในสมัยนั้น ดังนั้นเมื่อเธอหนีตามพ่อมากที่มีพื้นเพเป็นชาวนามาอยู่ที่พระโขนง เธอจึงเหมือนปลาที่ผิดน้ำ ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆในชุมชนที่ตัดสินคุณค่าของผู้หญิงด้วยการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่สามี ญาติ หรือคนอื่นๆที่ต่างล้วนมองแม่นาคด้วยความชิงชังและด้วยอคติที่มีต่อคนที่มาจากชนชั้นและพื้นเพที่ต่างกัน การอ่านหนังสือออกนั้นมีค่าน้อยกว่าการต้อนควายเป็นเสียอีก จะมีก็แต่ความรักของพ่อมากเท่านั้นที่ทดแทนความทุกข์ต่างๆและทำให้แม่นาคมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข ดังนั้นเมื่อพ่อมากต้องโดนเกณฑ์ไปรบ แม่นาคที่กำลังท้องแก่จึงแทบไม่เหลือความสุขในชีวิตอีกเลย
ในเรื่องที่เล่าต่อๆกันมานั้น ไม่ได้มีการพูดถึงสาเหตุแห่งความตายของแม่นาคที่นอกเหนือไปจากการที่เด็กในท้องไม่สามารถคลอดออกมาได้เองและทำให้แม่ต้องตาย แต่ในบทละครเรื่องแม่นาค เดอะ มิวสิคัล นี้ การตายของแม่นาคยังมีสาเหตุและเงื่อนงำอื่นอีก ความรัก ความผูกพัน การโหยหาความสุขที่มีอยู่น้อยนิดในชีวิตของเธอนี้คือสิ่งที่ยื้อยุดวิญญาณแม่นาคไว้ ในเมื่อโลกของมนุษย์ไม่สามารถให้ความสุขสงบได้ แม่นาคจึงสร้างโลกขึ้นมาใหม่ที่ “จะมีแต่คนที่ฉันรักและรักฉัน มีแต่เสียงหัวเราะเบิกบานมีความสุข ไม่มีใครเจ็บไม่มีใครตายไม่มีใครทุกข์ มีแค่พ่อแม่และลูกน้อยกลอยใจ”
แต่โลกนี้เป็นโลกแห่งมายา เป็นโลกที่ไม่จริง เป็นโลกที่เปราะบางยิ่งกว่าพรายน้ำในคลองพระโขนง โลกของแม่นาคเป็นโลกที่มนุษย์ไม่สามารถยอมรับได้และพร้อมจะทำลายให้แตกสลายลง และท้ายที่สุดในวันที่พ่อมากรู้ความจริง ก็คือวันที่ติดสินชะตาชีวิต ไม่เพียงแต่ของแม่นาคและพ่อมากเท่านั้น ยังรวมถึงคนหลายคนที่กรรมทำให้ต้องมาเกี่ยวพันกัน
นอกเหนือจาก แม่นาค (น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย) และ พ่อมาก (วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์) แล้ว แม่นาค เดอะ มิวสิคัล มีตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่จากจินตนาการหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บทของแม่เหมือน แม่ของพ่อมาก(มณีนุช เสมรสุต) แม่ทองคำ แม่ของแม่นาค (อรวรรณ เย็นพูนสุข และ รัดเกล้า อามระดิษ) ป้าแก่หมอตำแย (นรินทร ณ บางช้าง) ขุนประจัน พ่อของแม่นาค (ญาณี ตราโมท) สัปเหร่อ ( เด๋อ ดอกสะเดา) และ สายหยุด ญาติผู้น้องของพ่อมาก( ปุยฝ้าย เอ เอฟ 4) บทของตัวละครที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นบทสำคัญที่มีความหมายต่อเรื่องอย่างยิ่งยวดจะขาดใครไปไม่ได้เลย
บทละครเพลง เรื่อ งแม่นาค เดอะ มิวสิคัล นี้ ตั้งใจว่าจะให้เหมือนคู่กรรม เดอะ มิวสิคัล คือ ไม่มีบทพูดเลย เป็นมิวสิคัลแบบที่ร้องทั้งเรื่อง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sung-through ดังนั้น จึงเขียนเป็นบทเพลงที่มีคำสัมผัสกันแบบบทกลอน รวมทั้งหมดประมาณห้าสิบเพลง เมื่อให้ผู้กำกับการแสดง คุณสุวรรณดี จักราวรวุธ ดูแล้ว จึงส่งให้กับ คุณไกวัล กุลวัฒโนทัย Music Director และ ผู้ประพันธ์เพลงอีกสองท่าน ที่ได้ร่วมงานกันมายาวนานแล้ว ได้แก่ คุณพลรักษ์ โอชกะ และ คุณสุธี แสงเสรีชน เพื่อแต่งทำนองเพลงต่อไป การแสดงละครเรื่องนี้ ฝ่ายดนตรีตั้งใจว่าจะสร้างสรรค์ละครเพลงในแบบที่เป็นสากลแต่ก็จะต้องมีกลิ่นอายของความเป็นไทย ดังนั้นในการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับเครื่องดนตรี 18 ชิ้น จึงออกแบบให้มีเครื่องดนตรีไทยผสมอยู่ด้วย เพราะอย่างไร แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ของดรีมบอกซ์ ก็เป็นละครเพลงที่เสนอตำนานของคนไทยที่เขียนบทโดยคนไทยที่ภาคภูมิใจในรากเหง้าความเป็นไทยของตัวเอง
ตลอดระยะเวลายาวนานที่ได้เขียนบทละครและทำละครเวทีมาหลายสิบปี ยอมรับค่ะ ว่าแม่นาค เดอะ มิวสิคัล เป็นละครที่เขียนยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะที่จริงได้วางเค้าโครงบทละครเพลง เรื่อง แม่นาคมาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อดรีมบอกซ์ยังผลิตละครเวทีในนามของแดส เอ็นเทอร์เทนเม้นท์อยู่ แต่เมื่อคิดจะเขียนทีไรก็รู้สึกว่าเขียนไม่ได้ดังใจสักครั้ง เพราะไม่สามารถหาเหตุผลให้ตนเองยอมรับได้ว่า ทำไมแม่นาคจึงเป็นผีดุร้ายและทำไมแม่นาคจึงต้องถูกปราบปรามด้วยความโหดเหี้ยมต่างๆนานา แต่แล้วในที่สุดเมื่อประมาณสามปีมาแล้วก็ได้ไปที่วัดมหาบุศย์กับทีมงาน เมื่อไหว้ขออนุญาตแม่นาคเสร็จแล้วก็ไปนั่งอยู่ที่ศาลาท่าน้ำของวัด มองข้ามคลองพระโขนงไปยังฝั่งตรงกันข้ามที่ยังรกครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แล้วก็คิดว่า ที่นี่ละนะ คือสถานที่เกิดเหตุ หลังป่าช้าของวัดนี้ก็คือที่ฝังศพแม่นาค คลองข้างหน้าเรานี้ก็เป็นที่ที่แม่นาคกับพ่อมากเคยพายเรือเล่นกัน ฝั่งตรงข้ามเลยคุ้งน้ำไปด้านโน้นก็อาจจะเป็นบ้านแม่นาคก็ได้ เมื่อเริ่มคิดได้ว่าแม่นาคกับพ่อมากเป็นคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆได้แล้ว โครงเรื่องและเหตุผลต่างๆจึงตามมา และยิ่งรู้สึกว่าแม่นาคเป็นคนที่น่ารักน่าสงสารแล้ว ทุกอย่างก็เขียนได้อย่างราบรื่นจนจบเรื่อง
เมื่อเรื่องจบ ใจของคนเขียนเองก็สงบเพราะรู้ว่าได้ให้ความเป็นธรรมกับดวงวิญญาณของแม่นาคแล้ว

2 ความคิดเห็น:

Angsana กล่าวว่า...

น่าสนใจ และเยี่ยมมากค่ะ กับการตีความใหม่แบบนี้
หยิบยกประเด็นของความรักและ Gender ไว้ด้วยกัน
แบบนี้คงดูรอบเดียวไม่ได้แล้วค่ะ

ส่งกำลังใจให้ทีมงานทุกๆคนด้วยนะคะ

แม่นาค เดอะมิวสิคัล กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับกำลังใจที่ส่งให้ทีมงานทุกคน;-)